ไม่มีการเปลี่ยนผ่าน (transition) มีแต่การเปลี่ยนดับ (disruption)

การมาบรรจบกันของเทคโนโลยี (Technology Convergence)
การมาบรรจบกันของเทคโนโลยี (Technology Convergence) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบดับของเก่า กรณี 2007 ที่เกิดสมาร์ทโฟน เกิดเทคโนโลยีสำคัญหลายอย่างคือ Computing power (broad band), data storage, digital imaging, networking capacity, touchscreen, Li-ion battery, sensors, GPS และอื่นๆ ทำให้เกิดสมาร์ทโฟนราคาเพียง 600 เหรียญ 30 บริษัทผลิตสมาร์ทโฟน เพราะใครๆ ก็ผลิตได้ ไอโฟนกับกูเกิลครองตลาดสมาร์ทโฟนถึงกว่า 95%

เทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจแบบดับของเก่าเช่นกัน โดยเกิดขึ้นเพราะนำเทคโนโลยีมาผนึกพลังกัน อย่าง Uber เกิดที่อพาร์ตเมนต์เล็กๆ แห่งหนึ่งในซานฟรานซิสโก ไม่มีรถของตนเองสักคัน แต่มีการใช้งานรถรวมแล้วมากกว่าการใช้แท็กซี่ในอเมริกาทั้งหมด (หรือ Airbnb ที่ไม่มีโรงแรม แต่มีห้องพักในเกือบทุกประเทศ)

เขาเคยทำนายว่า ปี 2020 จะเป็น “จุดพีค” ของรถยนต์น้ำมัน แล้วจะลดลงไปเรื่อยๆ ปรากฏว่า ปี 2019 คนก็ซื้อรถยนต์น้อยลงแล้วทั่วโลก ทั้งอเมริกา ยุโรป จีน ความจริงมีตัวเลขที่แสดงว่า ตั้งแต่ปี 2016 รถของ GM (Chevrolet และอื่นๆ), Ford, FCA (Fiat Chrysler) ขายได้น้อยลงแล้ว ขณะที่ Tesla เพิ่มขึ้น

อาการช็อกตลาด (Market Trauma)
อาการช็อกตลาด (Market Trauma) เกิดขึ้นเมื่อคนมักคิดว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเร็ว เมื่อเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดคาดฝันก็ช็อกกัน มักบอกว่า “แค่ 2-3% เอง อีก 20-30 ปีข้างหน้าโน่น ไม่ต้องห่วง” โทนี ซีบา บอกว่า เทคโนโลยีใหม่จะดับของเก่าก่อนจะไปถึง 20-30% แค่ 2-3% ก็ดับได้ ดูกรณี GE ยังเจ๊งเรื่องพลังงาน ทั้งๆ ที่พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานหมุนเวียนยังต่ำมาก

เทคโนโลยีที่มาบรรจบผสานผนึกพลังกันที่โทนี ซีบา ติดตามที่สำคัญ คือ 1. ปัญญาประดิษฐ์ (AI) 2. ชีววิทยาแม่นยำ (Precised Biology) 3. หุ่นยนต์ (Robotics) 4. พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar PV) 5. แบตเตอรี่ 6. เซนเซอร์ (sensors & IoT) 7. การพิมพ์สามมิติ 8. การเห็นสามมิติ 9. Mobile internet 10. Big data, open data 11. Computing 12. Blockchain 13. อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned aerial vehicles/nano satellites) เหล่านี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนหรือแบบดับของเก่า และมีผลกระทบอย่างมากในปี 2020

การเปลี่ยนดับมาจากภายนอก เอปเปิล และกูเกิ้ลไม่เคยทำมือถือมาก่อน เพราะการเปลี่ยนแปลง “จากข้างใน” บริษัทเป็นเรื่องใหญ่ แพง และมีความซับซ้อนในเรื่องโครงสร้าง การจัดการ บุคลากร การผลิตรถไฟฟ้า รถไร้คนขับ และอีกหลายอย่าง ส่วนใหญ่จึงเกิดจาก “คนนอก” คือบริษัทที่ไม่เคยทำเรื่องนั้นมาก่อน อย่างรถไฟฟ้าที่นำหน้าโดย Tesla ที่ไม่เคยผลิตรถยนต์ แต่ทำแล้วขายในอเมริกาได้มากกว่าปอร์เช่ เมอร์เซเดส เบนซ์ และบีเอ็ม และได้รับการยกย่องให้เป็น “รถดีที่สุด” ไม่ใช่ในฐานะรถไฟฟ้า แต่เทียบกับรถทุกประเภท

ปี 2014 ที่เขียน Clean Disruption นั้น โทนี ซีบา พูดถึง แบตเตอรี่, รถยนต์ไฟฟ้า, รถยนต์ไร้คนขับ, การขนส่งแบบเรียกใช้, พลังงานแสงอาทิตย์

กรณีลีเธียมไออนแบตเตอรี่ เขาบอกไว้ในปี 2014 ว่า ราคาจะลดลง 16% ทุกปี เขาพยากรณ์ถูก แต่ความจริงตั้งแต่ปี 2010-2019 ลดลงเฉลี่ยมากกว่า 20% ด้วยซ้ำ เพราะปี 2014 ทั่วโลกมีโรงงานยักษ์ผลิตแบตเตอรี่ (mega factories) อยู่ 3 โรง ผลิตได้ 50 GWh วันนี้มี 96 โรง ผลิตได้ 2,030 GWh

การเก็บไฟ (Storage) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนดับของเก่า ที่ออสเตรเลีย Tesla ไปสร้างโรงงานยักษ์ผลิตแบตเตอรี่ได้เพียง 2% ของทั้งหมดในออสเตรเลียใต้ แต่เป็น 55% ของส่วนแบ่งตลาด ทำให้ราคา Whole Sale ลดลงถึง 95% นี่คือการช็อคตลาด (Market Trauma)

กรณีของ GE (General Electric) บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำนายว่า ระหว่างปี 2016-2026 ก๊าซจะเพิ่มขึ้น 3% นิวเคลียร์ 2% ถ่านหิน 0.8% ทำให้หุ้นของ GE ตกไป 74% การคาดการณ์ผิดทำให้ธุรกิจเสียหายไป 193 พันล้านเหรียญ (หรือประมาณ 6 ล้านล้านบาท)

รถยนต์ไฟฟ้า
รถยนต์ไฟฟ้าค่าใช้จ่ายถูกกว่ารถใช้น้ำมัน 10 เท่าต่อกม. รถยนต์น้ำมันมี 2,000 ชิ้นส่วนเพื่อการขับเคลื่อน รถไฟฟ้ามีเพียง 20 ชิ้น มีประกันแบบไม่จำกัดปี ไม่จำกัดกิโลเมตร รถยนต์น้ำมันวิ่งได้ 2 แสนกว่ากิโลเมตร ขณะที่รถไฟฟ้าได้มากกว่าอย่างน้อย 800,000 เทสลาให้เป็น 1.6 ล้านกิโลเมตรด้วยซ้ำ เหมาะมากสำหรับบริษัทที่จะมีรถมากๆ ให้เช่า เพราะจะวิ่งปีหนึ่งมากกว่าสองแสนกิโลเมตร

เขาทำนายไว้ในปี 2014 ว่า ปี 2019 รถยนต์ไฟฟ้าที่มีพลังงานวิ่งได้ 200 ไมล์จะราคา 35,000 เหรียญ ปรากฏว่า เทสลาทำได้ และที่เมืองจีนทำได้ต่ำกว่า 30,000 เหรียญด้วยซ้ำ ขณะที่รถน้ำมันวันนี้ที่สหรัฐฯ ราคาเฉลี่ยประมาณ 34,000 เหรียญ

เขาทำนายว่า ในปี 2025 ราคารถไฟฟ้าจะมีราคาเพียง 12,000 เหรียญ ที่จริง เขาบอกว่า วันนี้เมืองจีนผลิตรถไฟฟ้าราคาเพียง 10,000 เหรียญที่วิ่งได้ 100 กว่าไมล์แล้ว และเขาเคยบอกสองสามปีก่อนว่า ภายในปี 2025 รถใหม่ทุกคันที่ออกมาจะเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด

วันนี้บริษัท Amazon สั่งซื้อรถบรรทุกไฟฟ้า 100,000 คัน ไมใช่เพราะรักสิ่งแวดล้อม แต่เพราะลดค่าขนส่งได้มากมาย แล้วบริษัทคู่แข่งอื่นๆ ก็ต้องทำเหมือนกันหมด 

ใครมีรถไฟฟ้าที่บ้าน สามารถต่อไฟไปใช้ได้ 2 วัน ประหยัดเงิน และเมื่อเกิดปัญหาไฟสาธารณะดับก็มีไฟฟ้าทดแทนได้ทันที

วันนี้มีกว่า 50 บริษัทที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพราะเป็นรถยนต์ยุคใหม่เป็นแค่คอมพิวเตอร์บนล้อ ที่ใครๆ ก็ทำได้ แม้แต่บริษัทโซนี่ยังทำรถไฟฟ้ากับเขาเลย

รถยนต์ไร้คนขับก็มาเร็วกว่าที่ใครๆ คาดการณ์ไว้ แม้ยังจำกัดอยู่ แต่ไม่นานจะเข้าสู่ตลาดใหญ่แน่นอน บริษัท Waymo ของกูเกิลที่ทำแท็กซี่และกำลังทำแบบไร้คนขับ สั่งรถไฟฟ้าไร้คนขับไปแล้ว 62,000 คัน

ความปลอดภัย เทสลามีความปลอดภัยสูงกว่ารถยนต์มีคนขับ 8.8 เท่า ทั้งๆ ที่ยังอยู่ในระดับ 3 กว่า ยังไม่ถึงระดับ 4 ที่ปลอดภัยมาก และระดับ 5 ที่ปลอดภัยสูงสุดเลย ปีหนึ่งคนตายจากอุบัติเหตุบนถนนทั่วโลก 1.2 ล้านคน จะช่วยลดคนตายได้เกือบ 1 ล้านคน เขาพยากรณ์ว่า ปี 2020 จะปลอดภัยกว่า 5 เท่า ปี 2022 ถึง 10 เท่า อีก 5-6 ปีจะเป็น 100 เท่า ต่อไปรถยนต์มีคนขับจะต้องทำประกันภัยสูงมาก หรืออาจไม่มีใบขับขี่คนอีกต่อไปก็ได้ เพราะไม่ปลอดภัย

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแบบ “เร็วสุดๆ” (Double Exponential) ปี 2013 โปรแกรมคอมฯ เล่นหมากล้อมชนะคนได้ ปี 2015 ชนะแชมป์ยุโรป 5 เดือนต่อมาชนะแชมป์โลก 3 วันต่อมา มีการผลิตตัวใหม่จากศูนย์ เอาชนะตัวเก่าที่ชนะแชมป์โลกได้ เมื่อก่อนคนคิดว่าอาจใช้เวลา 10 ปี จึงจะเอาชนะคนได้

วันนี้อะไรมีล้อสามารถทำให้วิ่งเองได้หมด จักรยาน มอเตอร์ไซค์ ล้อขนของทุกรูปแบบ (ในห้างอเมซอนและอีกหลายแห่งแทบไม่ต้องออกแรงขนย้ายอะไรเหมือนเมื่อก่อน ทั้งหุ่นยนต์และล้ออัตโนมัติทำให้หมด ซื้อของก็ไม่ต้องจ่ายที่แคชเชียร์ ซื้อแล้วออกจากร้านไปเลย เพราะใช้ QR code เดินผ่านมันก็ตัดบัญชี)
Visitors: 3,468,820