1 ก.พ.นี้ ทุกแบงก์ไม่รับฝาก เช็คแก้ไขข้อความ แนะให้ผู้สั่งจ่ายเปลี่ยนเช็คใหม่

 


จากกรณีที่มีข่าวการทุจริตจากการใช้เช็ค เกิดความเสียหายต่อลูกค้าและธนาคาร โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่นายอามิตร จาวลา อายุ 33 ปี ผู้จัดการทั่วไป ร้านอุปกรณ์เสริมสวย และผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเส้นผม “วิน ซาลอนเน่” ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ ถูกอดีตพนักงานบัญชีปลอมแปลงเช็คไปขึ้นเงินธนาคารชั้นนำ 4 แห่ง รวม 63 ใบ มูลค่าความเสียหายกว่า 8 ล้านบาท กระทั่งบริษัทคู่ค้าได้โทรศัพท์เพื่อทวงถามเงินค่าสินค้า และตรวจสอบพบว่า เช็คของตนสั่งจ่ายไปแล้ว และได้ตัดเงินจากบัญชีเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะพบว่าอดีตพนักงานบัญชีแก้ไขข้อมูลเช็ค โดยเปลี่ยนชื่อผู้รับเงินปลายทางเป็นชื่อสามี ลูกชาย รวมทั้งชื่อของอดีตพนักงานผู้นั้นเอง ก่อนนำฝากเข้าบัญชีต่างๆ ที่เตรียมไว้ เพื่อรับเงินจากธนาคาร 4 แห่ง และยังพบว่ามีพนักงานธนาคารบางคนเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความสงสัยว่า เช็คเหล่านั้นถูกปล่อยผ่านไปได้อย่างไร และธนาคารเหล่านั้นเคยมีมาตรการป้องกัน กรณีเช็คที่มีการแก้ไขข้อความ ซึ่งส่อว่าทุจริตจากการใช้เช็คหรือไม่
รายงานข่าวแจ้งว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้เคยสั่งการให้ธนาคารต่างๆ ออกประกาศสำหรับลูกค้าผู้ใช้บริการเช็ค มาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา ระบุว่า "ด้วยปัจจุบันสถิติการทุจริตจากการใช้เช็คในประเทศไทยมีอยู่พอสมควร อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายต่อลูกค้าและธนาคาร เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว ธนาคารจึงใคร่ขอความอนุเคราะห์ให้ผู้สั่งจ่ายเช็คโปรดสั่งจ่ายเช็คด้วยความระมัดระวัง โดยหลีกเลี่ยงการแก้ไขข้อความ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2562 เป็นต้นไป หากลูกค้าผู้ทรงเช็คได้รับเช็คที่มีการแก้ไขข้อความ ให้นำฝากเฉพาะที่ธนาคารเจ้าของเช็คเท่านั้น 

โดยข้อแนะนำในการใช้เช็ค ผู้สั่งจ่ายเช็ค ให้ระมัดระวังในการเขียนเช็ค โดยไม่แก้ไขข้อความ/ตัวเลขบนหน้าเช็ค เพื่อป้องกันการทุจริตจากการปลอมแปลงข้อมูล รวมทั้ง เก็บรักษาเช็คให้อยู่ในที่ปลอดภัยและต้องแจ้งธนาคารทันทีเมื่อทราบว่าเช็คหาย ส่วนลูกค้าผู้ทรงเช็ค ตรวจสอบทุกครั้งที่มีการรับเช็ค โดยไม่รับเช็คที่มีการแก้ไขข้อความ/ตัวเลข, หากได้รับเช็คที่มีการแก้ไขข้อความ/ตัวเลข ให้นำไปให้ผู้สั่งจ่ายเปลี่ยนเช็คใหม่ หรือ ให้นำไปขึ้นเงินที่ธนาคารเจ้าของเช็คเท่านั้น และไม่ควรพับเช็คหรือทำให้เช็คชำรุด เพราะจะทำให้เช็คไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการเรียกเก็บได้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเช็คคืน โปรดติดต่อสาขาของธนาคารเจ้าของเช็ค"


นอกจากนี้ ในใบคำขอซื้อเช็ค นับจากนี้จะระบุข้อความว่า "การสั่งจ่ายเช็คต้องไม่มีการแก้ไข หากมีการแก้ไขธนาคารผู้จ่ายมีสิทธิปฏิเสธการจ่ายเงินได้" อีกด้วย

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สมาคมธนาคารไทย ได้หารือกรณีการยกเลิกการแลกเปลี่ยน "เช็คกลุ่มพิเศษ" โดยเฉพาะเช็คที่มีการแก้ไขข้อความ เช็คตราประทับ เช็คมูลค่าสูง รวมทั้งตั๋วแลกเงิน เช็คชำรุดที่ไม่สามารถกราดภาพได้ และเช็คสงสัยจะปลอม สำหรับการเรียกเก็บเงินตามเช็คระหว่างธนาคารผ่านระบบการหักบัญชีเช็คด้วยภาพเช็คและระบบการจัดเก็บภาพเช็ค (Imaged Cheque Clearing and Archive System หรือ ICAS) ของธนาคารแห่งประเทศไทย มานานกว่า 1 ปี ก่อนจะได้ข้อยุติเมื่อเดือน ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา ตามการพัฒนาระบบ ICAS ระยะที่ 3 หลังจากระยะที่ 2 ได้ยกเลิกระบบการหักบัญชีเช็คภายในจังหวัด เปลี่ยนสถานะสำนักหักบัญชีเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเช็คกลุ่มพิเศษไปในช่วงที่ผ่านมา โดยธนาคารสมาชิกระบบ ICAS 36 แห่ง เห็นพ้องให้มีผลในวันที่ 1 ก.พ. 2562 เนื่องจากอาจมีผลให้ลูกค้าบางส่วนได้รับความสะดวกน้อยลงในการใช้บริการฝากเช็คเพื่อเรียกเก็บ

สำหรับเหตุผลในการยกเลิกการแลกเปลี่ยนเช็คกลุ่มพิเศษนั้น เนื่องจากนับตั้งแต่เริ่มใช้ระบบ ICAS โดยเรียกเก็บเงินตามเช็คระหว่างธนาคารด้วยภาพเช็ค ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2555 ที่ผ่านมา ก่อนจะใช้ระบบดังกล่าวทุกจังหวัดทั่วประเทศมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2556 เพื่อลดค่าขนส่งเช็คทั้งระบบ และระยะเวลาเรียกเก็บเงินตามเช็ค 1 วันทั่วประเทศ พบว่ายังไม่สามารถใช้ระบบได้เต็มศักยภาพ 100% เนื่องจากยังมีเช็คบางส่วนที่ธนาคารผู้ส่งเรียกเก็บ ต้องนำส่งเช็คต้นฉบับให้ธนาคารเจ้าของเช็ค โดยเฉพาะเช็คที่มีการแก้ไขข้อความ มีมากกว่า 4% ของปริมาณเช็คเรียกเก็บทั้งระบบ ซึ่งพบว่าการดำเนินการแลกเปลี่ยนเช็คกลุ่มพิเศษนั้น มีต้นทุนประมาณ 300 ล้านบาทต่อปี วิธีการนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเกี่ยวกับระยะเวลาในการเปิดรับฝากเช็คเพื่อเรียกเก็บจากลูกค้าของสาขาในส่วนภูมิภาคได้นานขึ้น รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัย และป้องกันความเสียหายของผู้สั่งจ่ายเช็คจากการปลอมแปลงเช็คที่มีการแก้ไขข้อความ

ภาพ : ธนาคารไทยพาณิชย์

โดยแนวทางปฏิบัติสำหรับเช็คที่มีการแก้ไขข้อความ ให้ยกเลิกการรับฝากเช็คเพื่อส่งเรียกเก็บระหว่างธนาคาร ทำให้จากเดิมธนาคารอนุมัติตัดจ่ายจากเช็คต้นฉบับและจัดเก็บตัวเช็คเอาไว้ ต่อไปจะไม่สามารถนำฝากเพื่อเรียกเก็บระหว่างธนาคารได้ โดยธนาคารจะแนะนำลูกค้าให้ติดต่อผู้สั่งจ่ายเปลี่ยนเช็คใหม่ หรือขอให้เบิกถอน หรือนำฝากกับธนาคารเจ้าของเช็ค สำหรับเช็คแก้ไขข้อความที่ธนาคารรับฝากจากลูกค้าล่วงหน้า ก่อนวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยออกประกาศ มีผลในวันที่ 1 ก.พ. 2562 สามารถนำส่งเช็คดังกล่าวเรียกเก็บระหว่างธนาคารได้ โดยนำส่งรายละเอียดเช็คทั้งหมดที่รับฝากไว้ล่วงหน้าแต่ละฉบับให้ธนาคารเจ้าของเช็ค 1 วัน ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ โดยการพิจารณาอนุมัติตัดจ่ายขึ้นอยู่กับธนาคารผู้จ่ายเงิน

สำหรับเช็คมูลค่าสูง มูลค่าตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป จะมีแนวทางปฏิบัติใหม่ ด้วยการจัดเก็บภาพเช็คเข้าระบบ ICAS และต้องนำส่งตัวเช็คต้นฉบับให้ธนาคารเจ้าของเช็คที่กรุงเทพมหานคร ทุก 15 วัน โดยธนาคารจะอนุมัติตัดจ่ายจากภาพเช็ค ส่วนเช็คมีตราประทับ ยังคงจัดเก็บภาพเช็คเข้าระบบ ICAS และจัดเก็บตัวเช็คที่ผ่านการเรียกเก็บ โดยธนาคารจะอนุมัติตัดจ่ายจากภาพเช็คต่อไป สำหรับเช็คหรือตราสารทางการเงินที่ผู้ออกไม่มีถิ่นฐานในราชอาณาจักรไทย ไม่ให้ส่งเรียกเก็บเงินผ่านระบบ ICAS โดยให้แต่ละธนาคารเรียกเก็บตามช่องทางที่ธนาคารกำหนดไว้ เช่น ฝ่ายบริการโอนเงินต่างประเทศ หรือ ฝ่ายปริวรรตเงินตราต่างประเทศของแต่ละธนาคาร

ส่วนตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange หรือ B/E) และตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Notes หรือ P/N) จะจัดเก็บภาพใบแทนเข้าระบบ ICAS และนำส่งตั๋วต้นฉบับ โดยธนาคารจะอนุมัติตัดจ่ายจากตั๋วต้นฉบับ ทำให้ลูกค้าที่นำฝากตั๋วที่ครบกำหนดการเรียกเก็บ ที่สาขาในส่วนภูมิภาค จะได้รับเงินล่าช้า โดยนับจากนี้ธนาคารจะให้ลูกค้านำตั๋วมาฝากเรียกเก็บล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ ก่อนวันที่ตั๋วครบกำหนด เพื่อให้แต่ละสาขาส่งต้นฉบับให้สำนักงานใหญ่ ก่อนนำส่งให้ธนาคารเจ้าของตั๋วแลกเงิน และตั๋วสัญญาใช้เงินอนุมัติตัดจ่ายต่อไป

Visitors: 3,469,032